กฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
วิชาเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างปลอดภัยและถูกต้องตามสิทธิ
คอมพิวเตอร์เป็นเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนในสังคมเป็นอย่างมากเช่นการสนทนาสื่อสารการส่งข้อมูลและแชร์ข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจะเป็นในรูปของข้อความรูปภาพหรือคลิปวีดิโอแต่ อย่างไรก็ตาม คอมพิวเตอร์ก็เป็นเหมือนดาบสองคมหากผู้ใช้นำไปใช้งานในทางที่ไม่เหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น การขโมยข้อมูลของคนอื่นและนำไปเผยแพร่ต่อทำให้ผู้อื่นเสียหายการหลอกลวงผู้ใช้คนอื่นให้เชื่อใจและโอนเงินให้
นอกจากนี้ระบบคอมพิวเตอร์นั้นมีความรวดเร็วในการส่งข้อมูลส่งผลให้การกระทำผิดเป็นไปได้อย่างง่ายดายและสร้างความเสียหายได้ในวงกว้าง และเนื่องจากอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์นั้นมีความแตกต่างไปจากอาชญากรรมทั่วๆไป ในสังคมซึ่งส่งผลให้กฎหมายที่มีอยู่เดิมไม่ครอบคลุมการกระทำผิดในลักษณะนี้และไม่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อลงโทษผู้ที่ก่ออาชญากรรมคอมพิวเตอร์ได้ เช่น การโจรกรรมเงินในบัญชีธนาคารของผู้ใช้รายอื่นๆผ่านทางบัญชีธนาคารออนไลน์การโจรกรรมรูปภาพหรือคลิปวีดิโอที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นอีกทั้ง พยานหลักฐานต่างๆนั้นสามารถถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือถูกทำลายได้ง่าย เช่น ข้อมูลที่ถูกบรรจุอยู่ใน ฮาร์ดดิสก์(Hard Disk) หรือ แฟลชไดรฟว์ (Flash Drive)
จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ในปี พ.ศ. 2550 จึงได้เริ่มมีการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ จนกระทั่งในเดือนมิถุนายนพ.ศ. 2550 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้ในการคุ้มครองสิทธิ ขั้นพื้นฐานในความเป็นส่วนตัว โดยมุ่งคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมจนเป็นฉบับที่ 2 คือ ปี2560 ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน
สรุป 13 ข้อ สาระสำคัญจำง่ายๆ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 60
เพื่อการใช้ออนไลน์อย่างถูกกฎหมาย สำหรับสาระสำคัญที่หลายคนควรพึงระวังใน พ.ร.บ.ว่าด้วยกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับ 2มีสาระสำคัญจำง่ายๆ ดังนี้
1. การฝากร้านใน Facebook, IG ถือเป็นสแปม ปรับ 200,000 บาท
2. ส่ง SMS โฆษณา โดยไม่รับความยินยอม ให้ผู้รับสามารถปฏิเสธข้อมูลนั้นได้ ไม่เช่นนั้นถือเป็นสแปม ปรับ 200,000 บาท
3. ส่ง Email ขายของ ถือเป็นสแปม ปรับ 200,000 บาท
4. กด Like ได้ไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ยกเว้นการกดไลค์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน เสี่ยงเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 หรือมีความผิดร่วม
5. กด Share ถือเป็นการเผยแพร่ หากข้อมูลที่แชร์มีผลกระทบต่อผู้อื่น อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ฯ โดยเฉพาะที่กระทบต่อบุคคลที่ 3
6. พบข้อมูลผิดกฎหมายอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของเรา แต่ไม่ใช่สิ่งที่เจ้าของคอมพิวเตอร์กระทำเอง สามารถแจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ หากแจ้งแล้วลบข้อมูลออกเจ้าของก็จะไม่มีความผิดตามกฎหมาย เช่น ความเห็นในเว็บไซต์ต่าง ๆ รวมไปถึงเฟซบุ๊ก ที่ให้แสดงความคิดเห็น หากพบว่าการแสดงความเห็นผิดกฎหมาย เมื่อแจ้งไปที่หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อลบได้ทันที เจ้าของระบบเว็บไซต์จะไม่มีความผิด
7.สำหรับ แอดมินเพจ ที่เปิดให้มีการแสดงความเห็น เมื่อพบข้อความที่ผิด พ.ร.บ.คอมพ์ฯ เมื่อลบออกจากพื้นที่ที่ตนดูแลแล้ว จะถือเป็นผู้พ้นผิด
8. ไม่โพสต์สิ่งลามกอนาจาร ที่ทำให้เกิดการเผยแพร่สู่ประชาชนได้
9. การโพสเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน ต้องปิดบังใบหน้า ยกเว้นเมื่อเป็นการเชิดชู ชื่นชม อย่างให้เกียรติ
10. การให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต ต้องไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียเชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ญาติสามารถฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย
11. การโพสต์ด่าว่าผู้อื่น มีกฏหมายอาญาอยู่แล้ว ไม่มีข้อมูลจริง หรือถูกตัดต่อ ผู้ถูกกล่าวหา เอาผิดผู้โพสต์ได้ และมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
12. ไม่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ผู้ใด ไม่ว่าข้อความ เพลง รูปภาพ หรือวิดีโอ
13. ส่งรูปภาพแชร์ของผู้อื่น เช่น สวัสดี อวยพร ไม่ผิด ถ้าไม่เอาภาพไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หารายได้
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งยังมีอีกหลายประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้นจึงควรรู้กฎกติกาการใช้งานไว้ก่อน ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เราเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายได้
ขอบคุณข้อมูลจาก
www.marketingoops.com/news/viral-update/computer-law/