Welcome to ครูชัชดอทคอม   Click to listen highlighted text! Welcome to ครูชัชดอทคอม

Cyberbullying คืออะไร

     การกลั่นแกล้งรังแกบนโลกไซเบอร์ เป็นการทำร้ายกันทางความรู้สึกหรือจิตใจ เช่น การโพสต์ข้อความ ภาพ หรือคลิปวิดีโอเพื่อด่าทอ ส่อเสียด ประจาน แฉ โจมตี ข่มขู่ หรือใช้ถ้อยคำหยาบคาย ทำให้เหยื่อเกิดความอับอาย เสียใจ หรือเสื่อมเสียชื่อเสียง แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็วเมื่อมีการส่งต่อ การตอบโต้กันไปมาโดยมีคนโลกไซเบอร์มาผสมโรงด้วยความคิดความเชื่อหรือความเห็นของตัวเอง เป็นการกระทำซ้ำๆ ไม่ใช่ครั้งเดียวแล้วเลิก ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือการใส่ร้าย เช่น สร้างบัญชีปลอมแล้วเอาภาพเหยื่อมาทำเป็นโปรไฟล์แล้วไปโพสต์ด่าคนอื่น ทำให้สังคมเชื่อว่าเหยื่อเป็นคนไม่ดี การตัดต่อคลิปหรือภาพเหยื่อให้ขำหรือทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง การนำความลับหรือภาพลับมาเปิดเผยแล้วแชร์ต่อกันไปอย่างกว้างขวาง การสร้างกลุ่มหรือเพจต่อต้านคนที่ตัวเองไม่ชอบ โดยแอบถ่ายภาพทุกอิริยาบทเอามาจับผิด เอามาถกกันให้เกิดความเสียหาย การโน้มน้าวให้คนอื่นรู้สึกรังเกียจ หรือกีดกันให้ออกจากกลุ่มออกจากสังคมที่อยู่ เป็นต้น

แบบไหนบ้าง เข้าข่ายไซเบอร์บูลลี่

     รูปแบบการบูลลี่ ก็มีแตกต่างออกไป แต่ถ้าพูดถึง “ไซเบอร์บูลลี่” ที่เราเห็นบ่อยครั้ง ก็จะเป็นการล้อเลียนสรีระรูปร่าง หน้าตา สีผิว การแสดงออกในชีวิตจริง ที่ขัดกับบทบาท หรือภาพจำของคนทั่วไป ซึ่งแม้กระทั่งคนที่เป็นดารา นักแสดงเอง มีไม่น้อยที่ถูกบูลลี่ในลักษณะนี้ และอีกแบบก็คือ การประจานให้เกิดความอับอาย ด้วยการสร้างกระแส เพื่อให้คนในสังคมเข้ามาโจมตีเหยื่อ การสร้างข่าวลือ การปล่อยคลิปที่สร้างความอับอายทางโซเชียล ก็เป็นวิธีการทำร้ายด้วยไซเบอร์บูลลี่แทบทั้งสิ้น ผู้ที่ถูกบูลลี่ส่วนใหญ่ แม้จะไม่มีบาดแผลทางกาย แต่มีบาดแผลในใจ นอกจากจะได้รับความอับอาย วิตกกังวล เครียด อาจส่งผลให้บางคนเกิดภาวะโรคซึมเศร้า หวาดกลัวสังคม เลวร้ายที่สุด คือ การหนีจากปัญหา ด้วยการทำร้ายตัวเอง

สาเหตุของการระรานออนไลน์

     Cyberbullying เกิดขึ้นได้ทั้งจากการแกล้งกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ล้อกันเล่นขำ ๆ แล้วบานปลายไปด้วยความไม่ตั้งใจ หรืออาจเกิดจากความขัดแย้งกันในโรงเรียน ความเกลียดชัง ทั้งที่มีเหตุผลและไม่มีเหตุผล อาจแค่ไม่ชอบหน้า หรือความคิดเห็นบางอย่างไม่ตรงกัน แล้วใช้พื้นที่ในโลกออนไลน์โจมตีกัน รูปแบบของ Cyberbullying ที่พบบ่อย ๆ ได้แก่

  1. การข่มขู่คุกคาม หรือให้ร้ายเหยื่อ บางครั้งนำไปสู่การทำร้ายร่างกายกันจริง ๆ
  2. การเปิดโปงข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ โดยการเอาไปโพสต์หรือส่งต่อให้คนอื่นรับรู้ เช่น ภาพหลุด ภาพตลก ๆ เพื่อประจาน ทำให้อับอาย
  3. การคุกคามทางเพศ โดยใช้ถ้อยคำที่ส่อไปในทางเพศ ส่งภาพหรือวิดีโอมาให้แล้วชวนทำกิจกรรมทางเพศ การตัดต่อภาพโป๊เปลือย การลวงให้ส่งรูปไม่เหมาะสมแล้วนำไปโพสต์ประจานหรือแบล็กเมล
  4. การแอบอ้างตัวตน โดยการแอบเข้าบัญชีออนไลน์ของเหยื่อ หรือสร้างบัญชีใหม่โดยใช้ชื่อและ/หรือรูปภาพของเหยื่อ แล้วนำบัญชีไปใช้ในทางไม่เหมาะสม
  5. การสร้างกลุ่มเพื่อโจมตี เช่น เพจแอนตี้ต่าง ๆ เพื่อจับผิด ประจาน พูดคุยตำหนิ ด่าทอ ทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกเกลียดชังเหยื่อ

Cyberbullying กับผลกระทบ

Cyberbullying ทำให้เหยื่อได้รับผลกระทบทางจิตใจ เช่น
==>> อับอาย
==>> หวาดกลัว
==>> หวาดระแวง
==>> หดหู่
==>> รู้สึกโดดเดี่ยว
==>> เศร้าหมอง
==>> ท้อแท้ สิ้นหวัง
==>> ไร้ค่า
และยังเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น นอนไม่หลับ อ่อนเพลียเรื้อรัง เจ็บป่วย ทำร้ายตัวเอง และอาจรุนแรงถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย

เด็ก ๆ จะรับมือ Cyberbullying อย่างไร?

  • STOP หยุดระรานกลับด้วยวิธีการเดียวกัน หยุดตอบโต้ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำหรือเพิ่มความรุนแรงของเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น
  • BLOCK ปิดกั้นผู้ที่ระราน ไม่ให้เขาสามารถติดต่อ โพสต์ หรือระรานเราได้อีก
  • TELL บอกพ่อแม่ ครู หรือบุคคลที่ไว้ใจ เพื่อขอความช่วยเหลือ หากเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายหรือถูกข่มขู่คุกคาม ให้เก็บรวบรวมข้อมูลของผู้กระทำและเหตุการณ์ระรานรังแกไปแจ้งเจ้าหน้าที่
  • REMOVE ลบภาพหรือข้อความระรานรังแกออกทันที โดยอาจติดต่อผู้ดูแลระบบหากเป็นพื้นที่สาธารณะบนโลกออนไลน์
  • BE STRONG เข้มแข็ง อดทน ยิ้มสู้ อย่าไปให้คุณค่ากับคนหรือคำพูดที่ทำร้ายเรา ควรใช้เป็นแรงผลักดันให้เราดีขึ้น ก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ

"ภัยคุกคามยุคใหม่ Cyber Bullying"

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
www.youtube.com/watch?v=BfCVcCthmRc
www.youtube.com/watch?v=hn6UeIh9cKc
www.webmaster.or.th/articles/cyber-bullying
www.etda.or.th/th/Knowledge-Sharing/Cyberbullying-in-IFBL.aspx
https://www.thairath.co.th/news/society/1871781

Scroll to Top
Click to listen highlighted text!